by Admin

Make up
ฝ้า กระ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้ากระคืออัลตร้าไวโอเลตในแสงแดด ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น การโดนแดดสะสมเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

ฝ้ามีลักษณะ เป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลเข้ม บางครั้งมีสีออกดำอมฟ้า หรือสีแดง พบการขยายวงกว้างบริเวณโหนกแก้มได้มากกว่าที่อื่นบนใบหน้า ในบางครั้งเราอาจพบกระ ซึ่งเป็นจุดเล็กๆสีน้ำตาลกระจายอยู่ร่วมกับฝ้าอีกด้วย ซึ่งฝ้าจะมีทั้งหมด 4 ชนิดดังนี้

1. ฝ้าลึก - เกิดขึ้นบริเวณชั้นหนังแท้ใต้หนังกำพร้า มีสีน้ำตาลอ่อน สีเทา สีเทาอมฟ้า มีขอบเขตของฝ้าไม่ชัดเจน สังเกตได้ว่าฝ้าชนิดนี้จะกลืนไปกับผิวหน้าเป็นบริเวณกว้าง

2. ฝ้าตื้น - เกิดขึ้นบริเวณชั้นหนังกำพร้า มีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีเทาดำ ฝ้ายนิดนี้จะเห็นขอบเขตของการเกิดฝ้าได้ชัดเจน

3. ฝ้าผสม - ฝ้าที่มีการผสมกันระหว่างฝ้าลึก และฝ้าตื้นบนใบหน้า

4. ฝ้าเลือด - เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดฝอยบนใบหน้าเนื่องจากผิวหนังรับรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากแสงแดดเป็นเวลานาน เส้นเลือดฝอยในชั้นหนังแท้จึงเพิ่มจำนวนขึ้นหรือเสื่อมสภาพ ทำให้เห็นเส้นเลือดฝอยแตกแขนงเป็นกระจุกบนผิวหน้า เกิดเป็นรอยสีชมพู สีน้ำตาลแดง ไปจนถึงสีคล้ำ

กระ คือจุดด่างดำที่เกิดบนใบหน้า หรือผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ลำคอ แขน ขา มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม โดยแบ่งได้ 4 ชนิดหลักๆ ดังนี้

1.กระตื้น มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ มักพบบริเวณที่สัมผัสแดดมาก เช่น โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง หรือจมูก กระตื้น เกิดจากเซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนังทำงานผิดปกติ

โดยสาเหตุที่เซลล์เม็ดสีทำงานผิดปกตินั้นส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม ที่ทำให้เซลล์เม็ดสีมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ ทำให้มีกระตั้งแต่ไวเด็ก ประกอบกับการสัมผัสกับแสงแดดเป็นประจำโดยไม่มีการป้องกันอย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสทำให้กระเข้มขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น และขยายใหญ่ขึ้นด้วย

2.กระลึก มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ หรือเป็นแผ่นสีน้ำตาล เทา ดำ ขอบไม่ชัด มองเผินๆ คล้ายฝ้า มักพบบริเวณ โหนกแก้ม ดั้งจมูก ขมับทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น

กระลึก เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีบริเวณชั้นหนังแท้ โดยจะพบตั้งแต่แรกเกิด และถูกกระตุ้นโดยรังสี UV จากแสงแดด ร่วมกับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นช่วงวัยรุ่นหรือช่วงตั้งครรภ์ จะทำให้เห็นชัดเจนขึ้นในช่วงอายุที่มากขึ้น

3.กระเนื้อ มีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลเข้ม พบบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก หลัง โดยอาจขึ้นเป็นตุ่มเนื้อเล็กๆ แล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้น นูน และมีสีเข้มขึ้นโดยมีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า

กระเนื้อ เกิดจากผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเจริญเติบโตมากผิดปกติ โดยมีตัวกระตุ้นคือ แสงแดดและอายุที่มากขึ้น โดยยิ่งมีอายุมากขึ้น ขนาดก็จะใหญ่ขึ้นและจำนวนก็มากขึ้นด้วย

4.กระแดด มีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นเรียบๆ สีน้ำตาลหรือสีดำขนาดเล็ก ขอบชัด พบบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดบ่อยๆ เช่น ใบหน้า แขน ขา เป็นต้น ส่วนใหญ่เกิดในผู้ที่มีผิวขาวและมีอายุค่อนข้างมาก

การป้องกันฝ้ากระ
1. หลีกเลี่ยงแสงแดดให้มากที่สุด สวมหมวก กางร่ม ทาครีมกันแดด
2. หากทำกิจกรรมกลางแจ้งควรทากันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
3. ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยมีค่า SPF อย่างน้อย 40

ข้อมูลอ้างอิง
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
THE WISH CLINIC
Bujeong Clinic
Pornkasem Clinic